ประวัติโรงเรียน

ประวัติโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง

โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเป็นอาคารชั่วคราวหลังคามุงด้วยจากตั้งอยู่ในบริเวณวัดหลวงปรีชากูลด้านทิศตะวันออก  เปิดเรียนเมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  พ.ศ.  2456  โดยเปิดชั้นเรียนประถมศึกษาก่อนแล้วจึงขยายชั้นเรียนสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ไปตามลำดับ  มีนักเรียนชาย-หญิงเรียนรวมกัน  ครั้งเปิดเรียนชั้นเรียนมัธยมศึกษาบางปีก็มีนักเรียนหญิงเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา  และบางปีก็ไม่มี

ต่อมาโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นทางราชการจึงได้สร้างอาคารเรียนถาวรขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  2460  เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้องมี 6 ห้องเรียน มีห้องประชุมขนาดรองรับนักเรียนได้ประมาณ 200 คนเศษ  และมีห้องครูใหญ่  1  ห้อง  อาคารเรียนหลังนี้ใช้จัดการเรียนการสอน
ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  6  ซึ่งนับว่าเป็นชั้นเรียนสูงสุด  เมื่อวันที่  11  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2472  ต่อจากนั้นนักเรียน
ก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ปี พ.ศ.2478 กระทรวงกลาโหมได้ยกที่ดินและอาคารโรงอาหารหลายหลังให้กระทรวงศึกษาธิการ สถานที่ดังกล่าวนี้ตั้งอยู่เหนือคลองดักลอบ ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองปราจีนบุรี กระทรวงศึกษาธิการหรือกระทรวงธรรมการ  (มีการเปลี่ยนชื่อไปมาหลายครั้งระหว่างชื่อกระทรวงศึกษาธิการ  อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี  พ.ศ.2484  ใช้ชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่นั้นมา)  ได้รื้ออาคารหลังเดิมมาสร้างขึ้นใหม่มีใต้ถุนสูงขนาด 6 ห้องเรียน ต่อมาได้ดัดแปลงใต้ถุนเป็นที่เรียน และได้ย้ายนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามาเรียนที่อาคารหลังใหม่นี้ ส่วนโรงเรียนที่ตั้งอยู่บริเวณวัดหลวงปรีชากูลแต่เดิมนั้นก็ยังใช้เป็นที่เรียนชั้นประถมศึกษาต่อไป ซึ่งภายหลังได้ตั้งเป็นโรงเรียนปราจีนกัลยาณี

อาคารหลังใหม่นี้สร้างขึ้นด้วยวัสดุอุปกรณ์ของเก่า จึงไม่มั่นคงถาวร กอปรกับจำนวนนักเรียนมากขึ้น  ทางราชการจึงได้สร้างอาคารเรียนใหม่ขึ้นอีกครั้งด้วยเงินงบประมาณแผ่นดิน เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น มี 16 ห้องเรียน
ณ สถานที่ตั้งปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2484 บนบริเวณพื้นที่ดินครั้งแรกประมาณ 33 ไร่ 1 งาน 94 ตารางวา  ในปี พ.ศ. 2534  ได้รื้ออาคารหลังนี้เนื่องจากสร้างมาประมาณ 50 ปี ต่อมาได้สร้างอาคารอนุรักษ์ขึ้นมาแทนที่  ปี พ.ศ. 2545 ได้รับที่ดินเพิ่มจากราชพัสดุบริเวณสถานีอนามัยของเทศบาลเมืองปราจีนบุรีเดิม จำนวน 2 ไร่ 1 งาน 84
ตารางวา  รวมเป็น 35 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา

การบริหารราชการโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการได้มีการเปลี่ยนแปลงสังกัด เมื่อวันที่ 7  กรกฎาคม  พ.ศ.  2546  โดยมีการจัดระเบียบส่วนราชการในกระทรวงศึกษาธิการใหม่  ซึ่งมีการรวมกรมวิชาการ  กรมสามัญศึกษา  และสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ  เข้าด้วยกันและใช้ชื่อว่า  “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน”  จัดแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาการปกครองเพื่อจัดระบบและกระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้ครอบคลุมมากขึ้น  มีสำนักงานประจำแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเรียกว่า  “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)”  ซึ่งโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปราจีนบุรี  (สพท.ปราจีนบุรี)  ส่วนเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ  (ฉบับที่ 2)  พ.ศ.  2553  โดยในระยะแรก  (พ.ศ.  2553 – 2564)  มีจำนวน  42  เขต  เรียกว่า  “สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต…”  ซึ่งโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา  เขต  7  (สพม.7)  ประกอบด้วยจังหวัดปราจีนบุรี  จังหวัดนครนายก  และจังหวัดสระแก้ว  ต่อมา  พ.ศ.  2564  ได้มีการปรับปรุงโดยเพิ่มจำนวนเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจาก  42  เขตพื้นที่เป็น  62  เขตพื้นที่  ซึ่งโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปราจีนบุรี  นครนายก  (สพม.ปจ นย)

ด้านการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง  มีการเรียนการสอนการสอนทั้งสิ้น  84  ห้องเรียน  จำแนกเป็น  ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น  39  ห้องเรียน  และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 45  ห้องเรียน  โดยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมี  2  แผนการเรียน  คือ  แผนการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์  และแผนการเรียนคณิตศาสตร์และภาษา  อนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
และอย่างต่อเนื่อง  โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงได้จัดให้มีห้องเรียนพิเศษโครงการต่าง ๆ มากมาย  ดังนี้

1) ห้องเรียนสองภาษา  (Bilingual Program : BP)  จัดตั้งในปี  พ.ศ.  2545 – 2546

2) ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม  จัดตั้งในปี  พ.ศ.  2548-2549

3) ห้องเรียน Mini English Program : MEP  จัดตั้งในปี  พ.ศ.  2551

4) ห้องเรียน International Programme : IP  จัดตั้งในปี  พ.ศ.  2560

5) ห้องเรียนพิเศษเพชร  ป.ร.อ.  จัดตั้งในปี  พ.ศ.  2563

ซึ่งโครงการห้องเรียนพิเศษต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้  มีการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย  โดยในปี  2563  โครงการห้องเรียนพิเศษ  International Programme  กำหนดเปิดการเรียนการสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  แผนการเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์
ปัจจุบันโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดปราจีนบุรี  และได้รับงบประมาณเพื่อพัฒนาโรงเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  โรงเรียนจึงมีอาคารเรียนต่าง ๆ  ดังนี้

อาคารเรียน  1  (จิตรลดา)                   กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม

อาคารเรียน  2  (ศิวาลัย)                     กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

อาคารเรียน  3  (อมรินทร์)                   กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ  และ  MEP

อาคารเรียน  4  (อาคารศิลปกรรม)      กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ

อาคารเรียน  5  (บรมพิมาน)                International Programme

อาคารเรียน  6  (จักรี)                          กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

อาคารเรียน  7  (ดุสิต)                         กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์  และ  คอมพิวเตอร์

นอกจากนี้ยังมีอาคารประกอบต่าง ๆ  ได้แก่  อาคารอนุรักษ์ , อาคารศูนย์กีฬา , อาคาร MEP , อาคารโดม  95  ปี , อาคารโดม  98  ปี , หอสมุด  99  ปี , หอพระ  100  ปี , อาคาร  101  ปี  (โรงอาหาร) , หอประชุมอเนกสัมพันธ์ , อาคารวิทยบริการ  (สมาคมครูอาวุโสปราจิณราษฎรอำรุง , สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง และสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง) , อาคารสวนธรรมมะ , อาคารธรณีวิทยา , อาคารดนตรีสากล  , อาคารสหกรณ์ร้านค้าโรงเรียน , อาคารพยาบาล , อาคารสวัสดิการร้านค้า , อาคารธนาคารโรงเรียนสถานที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในโรงเรียน  ได้แก่  ศาลพระภูมิโรงเรียน ,
หอพระโรงเรียน (หลวงพ่อเพ็ชร) , ศาลเจ้าพ่อขุนทอง , พระพิฆเนศ

โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง  เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ  มีนักเรียนมากกว่า  3,400  คนส่งผลให้เป็นโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงในการสอบเข้าเพื่อศึกษาต่อทั้งระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4  ด้วยความเข้มข้นของวิชาการ  การสอบทักษะชีวิต  ตลอดจนการพัฒนาบุคลิกภาพของผู้เรียนให้เป็นคนดีและเก่ง  โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุงจึงเป็นโรงเรียน  1  ใน  100  โรงเรียนที่ดีที่สุดของประเทศไทย  โดยอยู่ในอันดับที่  63  ในปี  พ.ศ.  2561  จนถึงปัจจุบัน

ทำเนียบผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 29 ท่าน ดังนี้

1. รองอำมาตย์ตรีถม  วันประสาท ครูใหญ่ 23 พ.ค. 2465 – พ.ค. 2468
2. รองอำมาตย์ตรีบุณสิงห์ บุณค้ำ ครูใหญ่ 1 มิ.ย. 2468 – 22 ก.ค. 2472
3. รองอำมาตย์ตรีขาว โกมลมิตร ครูใหญ่ 23 ก.ค. 2472 – 11 ก.ค. 2478
4. นายสนั่น ศุขสมาน ครูใหญ่ 12 ก.ค. 2478 – 4 มี.ค. 2482
5. นายชุมพล แก้วเสมา ครูใหญ่ 5 มี.ค..2482 – 4 ก.พ. 2489
6. นายเทพ สมใจ ครูใหญ่ 5 ก.พ. 2489 – 7 พ.ย. 2492
7. นายเขียว มัณทรมณ์ ครูใหญ่ 8 พ.ค. 2492 – 6 พ.ค. 2496
8. นายเทพ เวชพงษ์ ครูใหญ่ 7 พ.ค. 2496 – 26 มิ.ย. 2499
9. นายทวี แตงน้อย อาจารย์ใหญ่ 27 มิ.ย. 2499 – 31 ก.ค. 2508
10. นายสุชาติ สุขากันยา อาจารย์ใหญ่ 1 ส.ค. 2508 – 30 ก.ย. 2511
11. นายสงบ นันทกิจ อาจารย์ใหญ่ 1 ต.ค. 2511 – 15 พ.ค. 2514
12. นายพัลลภ พัฒนโสภณ ผู้อำนวยการ 16 พ.ค. 2514 – 5 พ.ย. 2522
13. นายปจิต สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ 7 พ.ค. 2524 – 24 มิ.ย. 2526
14. นายดำรง อโนภาส ผู้อำนวยการ 4 ก.ค. 2526 – 2 ก.ค. 2530
15. นายอำนวย ทั่วทิพย์ ผู้อำนวยการ 11 ก.ค. 2530 – 21 ต.ค. 2532
16. นายเจริญ สุขเกษม ผู้อำนวยการ 17 ต.ค. 2532 – 22 ต.ค. 2535
17. นายชุมพล บัวคำศรี ผู้อำนวยการ 22 ต.ค. 2535 – 2 ธ.ค. 2536
18. นายประพนธ์ ไพลดำ ผู้อำนวยการ 2 ธ.ค. 2536 – 4 ก.ค. 2537
19. นายไล้ เดชอนันทวิทยา ผู้อำนวยการ 4 ก.ค. 2537 – 16 มี.ค. 2542
20. นายทองหล่อ ซุ้ยวงศ์ษา ผู้อำนวยการ 17 มี.ค. 2542 – 30 พ.ย. 2542
21. นายอุทัย รัตนพงศ์ ผู้อำนวยการ 20 ม.ค. 2543 – 29 ต.ค. 2544
22. นายสุนันทวิทย์ พลอยขาว ผู้อำนวยการ 30 พ.ย. 2544 – 14 พ.ย. 2546
23. นายสมพงษ์ มะใบ ผู้อำนวยการ 14 พ.ย. 2546 – 30 ก.ย. 2554
24. นายณรงค์ คงสุข รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทน 1 ต.ค. 2554 – 14 พ.ย. 2555
25. นายมนตรี ชิณศรี ผู้อำนวยการ 14 พ.ย. 2555 – 30 กันยายน 2556
26. ว่าที่ ร.ต.เมฆิน ลิ้มเจริญ รองผู้อำนวยการรักษาราชการแทน 1 ตุลาคม 2556 – 6 กุมภาพันธ์ 2557
27. นายธนิต บุญกิตติเจริญ ผู้อำนวยการ 7 ก.พ. 2557 – 30 ก.ย. 2558
28. นายธณัฏฐ์ยศ ถกลประจักษ์ ผู้อำนวยการ 9 พ.ย. 2558 – 30 ก.ย. 2560
29. นายณัฐวัฒน์ บุญชัยเกียรติ ครู ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการโรงเรียน รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง 1 ต.ค. 2560 – 25 พฤษภาคม 2561
30. นายสุรศักดิ์ ศรณรินทร์ ผู้อำนวยการ 25 พฤษภาคม 2561 – 30 กันยายน 2566
31. นายอภิเชษฐ์  ชมภู ผู้อำนวยการ 1 ตุลาคม 2566 – ปัจจุบัน

Loading

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart